ข้อมูลสุขภาพ: Heat Stroke โรคร้อน ๆ ที่อันตรายถึงชีวิต! ยิ่งร้อนก็ยิ่งเสี่ยง “ฮีทสโตรก” หรือโรคลมร้อน (Heat stroke) หลายวันมานี้ จะเห็นว่าผู้คนรอบตัวเริ่มมีอาการหน้ามืด เป็นลม ป่วยเพราะอากาศร้อนเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง
ฮีทสโตรกเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือกำจัดความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ และหากอุณหภูมิร่างกายเกิน 40 องศาเซลเซียส อวัยวะจะเริ่มทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิด ฮีทสโตรก หรือ โรคลมร้อน (Heat stroke) ได้ เมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง
เรามีวิธีเอาตัวรอดจากฮีทสโตรก โรคที่รุนแรงที่สุดในช่วงหน้าร้อนมาแนะนำ รับรองว่าเวิร์ค เดือดแค่ไหนก็ผ่านไปได้
อาการของฮีทสโตรก
บางรายอาจมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย เวียนหัว เดินเซ สับสน พูดไม่รู้เรื่อง คลื่นไส้อาเจียน กระสับกระส่าย หายใจหอบ ตัวแดง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ชัก หมดสติ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ใครบ้างที่ควรระวัง
ควรระวังทุกเพศทุกวัย ผู้ที่ควรระวังเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงสูง ได้แก่
– นักกีฬา หรือคนทำงานและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
– เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) และผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี)
– มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พาร์กินสัน เป็นต้น
– ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ยารักษาโรคจิต ยาแก้แพ้ ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก
– ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
วิธีเอาตัวรอดจากฮีทสโตรก
1. เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมใช้แรงท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน หากเป็นไปได้ อาจเปลี่ยนมาออกกำลังกายช่วงเช้ามืดหรือหลังพระอาทิตย์ตก และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ควรดื่มน้ำประมาณ 2 แก้ว (400-500 มล.) ก่อนออกกำลังกาย และประมาณ 1 แก้ว (200-300 มล.) ระหว่างออกกำลังกาย อย่าลืมดื่มน้ำเยอะ ๆ ตลอดทั้งวันด้วย
3. เลือกเสื้อผ้าก่อนออกจากบ้าน
สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบาง หลวม เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น และอาบน้ำบ่อย ๆ ในวันที่อากาศร้อนจัด
4. เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน
พกร่ม หมวก หรือเสื้อคลุมกันแดด เมื่อต้องออกไปเผชิญแสงแดดที่ร้อนจัด
5. เลือกดื่มน้ำเปล่าดีกว่า
เลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
สรุป
เราเลี่ยงหน้าร้อนไม่ได้ แต่เลี่ยงฮีทสโตรกได้ สำคัญเลยคือ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ หากเริ่มมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการพาผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย